การเปลี่ยนแปลงในปี 2567:
1. การปรับปรุงมาตรฐานการรายงานทางการเงิน (มรบ.) จำนวน 19 ฉบับ
- มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567
- สาระสำคัญของการปรับปรุง:
- ปรับให้สอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศ (IFRS) ฉบับล่าสุด
- เพิ่มเติมหรือแก้ไขหลักการและวิธีการบัญชีในประเด็นสำคัญ เช่น การนำเสนองบการเงิน สินทรัพย์ไม่หมุนเวียนที่ถือไว้เพื่อขายและการดำเนินงานที่ยกเลิก งบกระแสเงินสด การเปิดเผยข้อมูลเครื่องมือทางการเงิน สัญญาเช่า ฯลฯ
2. ประกาศกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เรื่อง กำหนดรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงิน พ.ศ. 2566
- มีผลบังคับใช้สำหรับงบการเงินที่เริ่มหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2567
- เปลี่ยนแปลงโครงสร้างและรูปแบบรายการย่อในงบการเงิน
มาตรฐานรายงานทางการเงินที่ปรับปรุง และรายการย่อที่ต้องมีในงบการเงินแบบใหม่ เนื้อหาที่เปลี่ยนแปลงสรุปได้ดังนี้
1. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 1 เรื่อง การนำเสนองบการเงิน สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงมี 2 เรื่องหลักดังนี้
1) เปลี่ยนแปลงตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย
2) ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีที่เกี่ยวข้องกับสินทรัพย์และหนี้สินที่เกิดขึ้นจากรายการเดียว
สาเหตุของการปรับปรุงหรือแก้ไขเพิ่มเติมมาจากการเปิดเผยข้อมูลนโยบายการบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัย สิ่งที่เกิดขึ้นในการนำเสนองบการเงินตามมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ ได้แก่
- การเปลี่ยนชื่อ “งบแสดงฐานะการเงิน” เป็น “งบฐานะการเงิน”
- การเปลี่ยนชื่อ “งบแสดงการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ” เป็น “งบการเปลี่ยนแปลงส่วนของเจ้าของ”
- เพิ่มคำนิยาม “นโยบายการบัญชี” หมายถึง นิยามที่กำหนดไว้ในย่อหน้าที่ 5 ของมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายการบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีและข้อผิดพลาด รวมถึงที่ใช้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ด้วย
- เพิ่มรายการส่วนประกอบของกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จอื่นอีก 2 รายการ คือ
- 1) รายได้และค่าใช้จ่ายทางการเงินจากการประกันภัยจากสัญญาที่ออกภายในขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 เรื่อง สัญญาประกันภัยที่แยกออกจากกำไรหรือขาดทุน เมื่อรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินจากการประกันภัยทั้งหมดถูกแตกยอดเพื่อรวมในกำไรหรือขาดทุนสำหรับจำนวนเงินที่กำหนดโดยการปันส่วนอย่างเป็นระบบที่ถือปฏิบัติตามย่อหน้าที่ 88.2 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 หรือสำหรับจำนวนเงินที่ขจัดการจับคู่อย่างไม่เหมาะสมทางการบัญชีของรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินที่เกิดขึ้นของรายการอ้างอิงที่ถือปฏิบัติตามย่อหน้าที่ 89.2 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17
- 2) รายได้และค่าใช้จ่ายทางการเงินจากสัญญาประกันภัยต่อที่ถือไว้ที่แยกออกจากกำไรหรือขาดทุนเมื่อรายได้หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินจากการประกันภัยต่อทั้งหมดถูกแตกยอดเพื่อรวมในกำไรหรือขาดทุน สำหรับจำนวนเงินที่กำหนดโดยการปันส่วนอย่างเป็นระบบที่ถือปฏิบัติตามย่อหน้าที่ 88.2 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17
- เปลี่ยนถ้อยคำ “ลักษณะ” เป็น “ธรรมชาติ” เช่น “ลักษณะของการจัดประเภทใหม่ เป็น ธรรมชาติของการจัดประเภทใหม่” “ค่าใช้จ่ายตามลักษณะ เป็น ค่าใช้จ่ายตามธรรมชาติ”
- เพิ่มเติมรายการที่ต้องแสดงในงบฐานะการเงินดังนี้
- พอร์ตโฟลิโอของสัญญาภายในขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 ที่เป็นสินทรัพย์ซึ่งแตกยอดตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 78 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17
- พอร์ตโฟลิโอของสัญญาภายในขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 ที่เป็นหนี้สินซึ่งแตกยอดตามข้อกำหนดในย่อหน้าที่ 78 ของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17
- เพิ่มรายการรายได้และค่าใช้จ่ายที่ต้องแยกแสดงดังนี้
- รายได้จากการประกันภัย (ดูมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17)
- ค่าใช้จ่ายในการบริการประกันภัยจากสัญญาที่ออกภายในขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (ดูมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17)
- รายได้หรือค่าใช้จ่ายจากสัญญาประกันภัยต่อที่ถือไว้ (ดูมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17)
- รายได้หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินจากการประกันภัยจากสัญญาที่ออกภายในขอบเขตของมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 (ดูมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17)
- รายได้หรือค่าใช้จ่ายทางการเงินจากสัญญาประกันภัยต่อที่ถือไว้ (ดูมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17)
2. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 7 เรื่อง งบกระแสเงินสด การปรับปรุงที่เกิดขึ้นมาจากการที่จะประกาศใช้มาตรฐานรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 17 สัญญาประกันภัย ซึ่งไม่เกิดผลกระทบ โดยยกเลิกย่อหน้า 14.5 “เงินสดรับและการจ่ายชำระเงินสดของกิจการประกันภัย สำหรับเบี้ยประกันภัยและค่าสินไหมทดแทน ค่ารายปี และผลประโยชน์อื่นตามกรมธรรม์” ทั้งหมด
3. มาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 8 เรื่อง นโยบายบัญชี การเปลี่ยนแปลงประมาณการบัญชีและข้อผิดพลาด สาระสำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือ คำนิยามประมาณการทางบัญชี การปรับปรุงครั้งนี้ไม่มีผลกระทบ โดยมีการปรับปรุงและเพิ่มเติมดังนี้
- แก้ไขคำนิยาม “การเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี” เป็น “ประมาณการทางบัญชี หมายถึง จำนวนที่เป็นตัวเงินในงบการเงินที่เปลี่ยนไปตามความไม่แน่นอนของการวัดค่า”
- ปรับปรุงย่อหน้า 32 ข้อความสำคัญคือ นโยบายการบัญชีอาจกำหนดให้รายการในงบการเงินถูกวัดค่าในแนวทางที่เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอนของการวัดค่า และตัวอย่างของประมาณการทางบัญชี ให้รวมถึง
- 1) ค่าเผื่อผลขาดทุนสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 เรื่อง เครื่องมือทางการเงิน
- 2) มูลค่าสุทธิที่จะได้รับของของสินค้าคงเหลือที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 2 เรื่อง สินค้าคงเหลือ
- 3) มูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 เรื่อง การวัดมูลค่ายุติธรรม
- 4) ค่าเสื่อมราคาที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ ที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 16
- 5) ประมาณการหนี้สิน สำหรับภาระผูกพันจากการรับประกันที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชี ฉบับที่ 37 เรื่อง ประมาณการหนี้สิน หนี้สินที่อาจเกิดขึ้น และสินทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้น
- เพิ่มเติมย่อหน้า 32ก กิจการใช้เทคนิคการวัดค่าและข้อมูลนำเข้าเพื่อจัดทำประมาณการทางบัญชี เทคนิคการวัดค่า รวมถึงเทคนิคการประมาณการ (เช่น เทคนิคที่ใช้ในการวัดค่าของค่าเผื่อผลขาดทุนสำหรับผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9) และเทคนิคการประเมินมูลค่า (เช่น เทคนิคที่ใช้ในการวัดค่าของมูลค่ายุติธรรมของสินทรัพย์หรือหนี้สินที่ถือปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13)
- เพิ่มเติมย่อหน้า 32ข คำว่า “ประมาณการ” ในมาตรฐานการรายงานทางการเงิน บางครั้งหมายถึง ประมาณการที่ไม่ใช่ประมาณการทางบัญชีที่นิยามไว้ในมาตรฐานการบัญชีฉบับนี้ เช่น บางครั้งหมายถึงข้อมูลนำเข้าที่ใช้ในการจัดทำประมาณการทางบัญชี
- ปรับปรุงข้อความย่อหน้า 34 เป็น กิจการอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี หากสภาพแวดล้อมที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการประมาณการทางบัญชีเปลี่ยนแปลง หรือเป็นผลมาจากข้อมูลใหม่ หรือพัฒนาการใหม่ หรือประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น โดยธรรมชาติแล้วการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชีไม่เกี่ยวกับรอบระยะเวลาก่อนและไม่ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด
- เพิ่มเติม 34ก ผลกระทบต่อประมาณการทางบัญชีสำหรับการเปลี่ยนแปลงข้อมูลนำเข้าหรือการเปลี่ยนแปลงเทคนิคการวัดค่าถือเป็นการเปลี่ยนแปลงประมาณการทางบัญชี เว้นแต่เป็นผลจากการแก้ไขข้อผิดพลาดสำหรับรอบระยะเวลาก่อน
สภาวิชาชีพบัญชี: https://acpro-std.tfac.or.th/standard/3/
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า: https://www.dbd.go.th/